วิทยุชุมชนเสียงสินรินทร์ http://sinnarinradio.siam2web.com/

ทุ่งกุลาร้องไห้

                 เป็น ที่ราบ ขนาดใหญ่  มีพื้นที่ประมาณ 2 ล้านไร่  อยู่ในเขต จังหวัดสุรินทร์ (อำเภอชุมพลบุรี อำเภอท่าตูม) , จังหวัดมหาสารคาม  (อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย) , จังหวัดบุรีรัมย์ (อำเภอพุทไธสง) , จังหวัดศรีสะเกษ, จังหวัดยโสธร (อำเภอมหาชนะชัย) และจังหวัดร้อยเอ็ด (อำเภอปทุมรัตต์ อำเภอเกษตรวิสัย อำเภอสุวรรณภูมิ และอำเภอโพนทราย) การที่ได้ชื่อว่าทุ่งกุลาร้องไห้ มีเรื่องเล่าสืบกันมาว่า ชนเผ่ากุลา ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยจากเมืองเมาะตะมะ ประเทศพม่า ได้เดินทางมาค้าขายผ่านทุ่งแห่งนี้ ต้องใช้เวลาเดินทางหลายวัน ไม่พบหมู่บ้านใด ๆ เลย น้ำก็ไม่มีดื่ม ต้นไม้ก็ไม่มีที่จะให้ร่มเงา มีแต่ทุ่งหญ้าเต็มไปหมด พื้นดินก็เป็นทราย เดินทางยากลำบากเหมือนอยู่กลางทะเลทราย ทำให้คนพวกนี้ถึงกับร้องไห้  ในอดีตทุ่งกุลาร้องไห้ในฤดูแล้งพื้นที่ส่วนใหญ่จะแห้งแล้งมาก ส่วนในฤดูฝนน้ำจะท่วมทุกปี ใต้พื้นดินลงไปเป็นน้ำเค็ม ไม่สามารถทำการเกษตรได้ หลังจากที่ได้มีการพัฒนาที่ดินแล้ว ทุ่งกุลาร้องไห้ได้กลายเป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิที่สำคัญของประเทศ และกลายเป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่มีชื่อเสียงของไทย



แม่น้ำมูล

           ชื่อของแม่น้ำสายนี้ สะกด "มูล" แต่เดิมนั้น ชาวบ้านในท้องถิ่นใช้คำสะกด "มูน" ซึ่งเป็นภาษาถิ่น หมายถึง สิ่งมีค่าน่าหวงแหน  เป็นมรดกของบรรพบุรุษสั่งสมเก็บไว้ให้ลูกหลานแต่ทางราชการได้กำหนดภาษาราชการตามเสียงเรียก โดยสะกด "มูล" ด้วย

เส้นทางแม่น้ำ

        แม่น้ำมูลมีต้นกำเนิดจากเทือกเขาตอนใต้ของจังหวัดนครราชสีมา ไหลผ่านอำเภอเมือง อำเภอพิมาย อำเภอชุมพวง (จังหวัดนครราชสีมา), อำเภอสตึก (จังหวัดบุรีรัมย์ ), อำเภอท่าตูม (จังหวัดสุรินทร์), อำเภอราษีไศล อำเภอเมือง และ อำเภอกันทรารมย์ (จังหวัดศรีสะเกษ) บรรจบกับกับแม่น้ำชีบริเวณบ้านขอนไม้ยูง อำเภอวารินชำราบ (จังหวัดอุบลราชธานี) แล้วไหลผ่านอำเภอเมืองอุบลราชธานี อำเภอพิบูลมังสาหาร และไหลลงแม่น้ำโขงที่ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี    มีความยาวทั้งหมดประมาณ 726  กิโลเมตร ลำน้ำสาขาที่สำคัญ ได้แก่ ลำตะคอง ลำพระเพลิง  ลำปลายมาศ  ลำโดมใหญ่  ลำโดมน้อย  ลำน้ำเสียว ลำเซบาย  และลำมูลน้อย  เป็นต้น ซึ่งใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตรเป็นส่วนใหญ่  สองฝั่งเป็นที่ราบน้ำท่วมถึงลุ่มน้ำมูลมีพื้นที่ลุ่มน้ำ 69,701 ตร.กม. หรือ 43-56 ล้านไร่หรือ 13.6% ของพื้นที่ลุ่มน้ำทั้งประเทศครอบคลุมพื้นที่ 10 จังหวัด ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างและบางส่วนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง ปริมาณน้ำไหลลงสู่   แม่น้ำโขงเฉลี่ยประมาณ 26,655 ล้าน ลูกบาศก์เมตรปี

ลำน้ำสาขา   ลำตะคอง  ลำพระเพลิง  ลำแซะ  ลำจักราช  ลำปลายมาศ  ลำนางรอง  ลำชี   ห้วยสำราญ ห้วยตามาย   ลำโดมใหญ่ ลำโดมน้อย  ลำพังชู  ลำเซบก  ลำเซบาย  

เขื่อนปากมูล สร้างกั้นแม่น้ำมูลที่บ้านหัวเห่ว อ.โขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี


 เขาพระวิหาร

       เป็น ปราสาทหิน อยู่บริเวณ เทือกเขาพนมดงรัก หรือ เทือกเขาพนมดงเร็กในภาษาเขมร  ( แปลว่าภูเขาไม้คาน ) ที่ตั้งของศาสนสถานแห่งนี้รู้จักกันในนาม พนมพระวิหาร อันหมายถึง บรรพตแห่งศาสนสถานอันศักดิ์สิทธิ์[2] ในพื้นที่ทับซ้อนชายแดนไทย-กัมพูชา ระหว่างอำเภอจอมกระสานต์ จังหวัดพระวิหาร ของกัมพูชา และอำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ ใกล้อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร เมื่อ พ.ศ. 2442 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชุมพลสมโภช กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ได้เสด็จไปยังปราสาทแห่งนี้ และทรงขนานนามว่า "ปราสาทพรหมวิหาร" ซึ่งต่อมาเรียกกันทั่วไปว่า "ปราสาทพระวิหาร"[5] นับเป็นปราสาทขอมที่สำคัญแห่งหนึ่ง ทั้งในแง่ประวัติศาสตร์การก่อสร้าง เทวสถาน ของ ฮินดู ประวัติศาสตร์การเรียกร้องเขาพระวิหาร และยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญทั้งของไทยและกัมพูชาด้วย ณ วันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 องค์การยูเนสโก ประกาศขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารให้เป็น มรดกโลก ของกัมพูชา[6]

ปราสาทพระวิหาร 

ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่บน ผาเป้ยตาดี  ของ เทือกเขาพนมดงรัก ซึ่งเป็นเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา ตั้งอยู่ที่ละติจูดที่ 104 องศาตะวันออก 41 ลิปดา อยู่ในเขตหมู่บ้านภูมิซร็อล (แปลว่า บ้านต้นสน) ตำบลบึงมะลู (ปัจจุบันขึ้นกับตำบลเสาธงชัย) อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ  ห่างจากจังหวัดศรีสะเกษ  110 กิโลเมตร หลังจากคำพิพากษาของศาลโลกในปี พ.ศ. 2505 แล้ว ปราสาทพระวิหารอยู่ในบ้านสวายจรุม ตำบลก็อนตวต อำเภอจอมกระสานต์ จังหวัดพระวิหาร (ภาษาเขมร: ) ประเทศกัมพูชา ปราสาทตั้งอยู่ห่างจากปราสาทนครวัดในเมืองพระนคร 280 กิโลเมตร และห่างจากกรุงพนมเปญ 296 กิโลมตร[9] แต่อย่างไรก็ตาม ทางการไทยได้สงวนสิทธิที่จะฟ้องปราสาทพระวิหารกลับคืนในอนาคต หากมีหลักฐานยืนยันเพียงพอ

ปราสาทพระวิหารมีความยาว 800 เมตร ตามแนวเหนือใต้ และส่วนใหญ่เป็นทางเข้ายาว และบันไดสูงถึงยอดเขา จนถึงส่วนปราสาทประธาน ซึ่งอยู่ที่ยอดเขาทางใต้สุดของปราสาท (สูง 120 เมตรจากปลายตอนเหนือสุดของปราสาท, 525 เมตรจากพื้นราบของกัมพูชา และ 657 เมตรจากระดับน้ำทะเล[10]) แต่โครงสร้างปราสาทแห่งนี้ก็ยังแตกต่างอย่างมากจาก สถาปัตยกรรมปราสาทหินของหินโดยทั่วไปที่พบในพระนคร เพื่อจำลองเขาพระสุเมรุ อันเป็นที่ประทับของเทพเจ้า ตามคติความเชื่อของฮินดู

ทางเข้าสู่ปราสาทประธานนั้น มีโคปุระ (ซุ้มประตู[1]) คั่นอยู่ 5 ชั้น (ปกติจะนับจากชั้นในออกมา ดังนั้นโคปุระชั้นที่ 5 จึงเป็นส่วนที่ผู้เข้าชมจะพบเป็นส่วนแรก) โคปุระแต่ละชั้นก่อนถึงลานด้านหน้า จะผ่านบันไดหลายขั้น โคปุระแต่ละชั้นจึงเปลี่ยนระดับความสูงทีละช่วง นอกจากนี้โคปะรุยังบังมิให้ผู้ชมเห็นส่วนถัดไปของปราสาท จนกว่าจะผ่านทะลุแต่ละช่วงไปแล้ว ทำให้ไม่สามารถแลเห็นโครงสร้างปราสาททั้งหมดจากมุมใดมุมหนึ่งได้เลย

ปราสาทพระวิหาร มีลักษณะเป็นแบบศิลปะบันทายศรี ลักษณะบางส่วนคล้ายคลึงกับพระวิหารของปราสาทนครวัด รูปรอยแกะสลักบนปราสาทสันนิษฐานได้ว่าเป็นศาสนสถานของศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกาย มีพระศิวะหรือพระอิศวรเป็นเทพสูงสุดของศาสนา เชื่อกันว่าสร้างขึ้นเพื่อถวายพระศิวะที่ทรงประทับบนยอดเขาไกรลาส ซึ่งเป็นยอดเขาสูงสุดของเขาพระสุเมรุ ศูนย์กลางจักรวาลปราสาทพระวิหารจึงสร้างบนหน้าผาเป้ยตาดี ทำให้ปราสาทแห่งนี้เปรียบเหมือนการค่อย ๆ ก้าวไปสู่ที่ประทับของพระศิวะ ซึ่งแทนด้วย "ยอดเป้ยตาดี"[8] หากมองจากข้างล่างผาจะเห็นตัวปราสาทเหมือนวิมานสวรรค์ลอยอยู่บนฟากฟ้า[9] โดยมีแผ่นดินเขมรต่ำ (ขแมร์กรอม) ประหนึ่งมหาสมุทรรองรับอยู่เบื้องล่าง[8]

ปราสาทพระวิหารมีลักษณะแผนผังที่ใช้แกนเป็นหลัก โดยจัดวางผังหันไปทางทิศเหนือ ซึ่งแตกต่างจากปราสาทอื่น ๆ ซึ่งตามปกติมักจะหันหน้าไปทางทิศตะวันออก อันเนื่องจากภูมิศาสตร์เป็นเครื่องกำหนดแล้ว ก็น่าจะเกิดจากปัจจัยอื่นบางประการที่แสดงถึงความสัมพันธ์กับดินแดนเขมรสูงในอดีต ตัวปราสาทประธานเป็นจุดศูนย์กลางล้อมรอบด้วยระเบียงคดทั้งสี่ด้าน ปราศจากบรรณาลัยขนาบเบื้องหน้า การวางผังที่กำหนดตำแหน่งอาคารมีความสมบูรณ์ลงตัวตั้งแต่แรกเริ่มของการก่อสร้าง โดยไม่มีการแก้ไขต่อเติมบริเวณลานชั้นในภายหลัง วัสดุตัวปราสาทสร้างด้วยหินทรายและหินดาน โดยเทคนิคการก่อสร้างทำโดยนำก้อนศิลาทรายซึ่งตัดเป็นแท่งสี่เหลี่ยมขนาดไล่เลี่ยกันวางซ้อนกันขึ้นไปตามรูปผังที่กำหนดไว้ โดยอาศัยน้ำหนักของแท่งศิลาทรายแต่ละก้อนกดทับกันเพียงอย่างเดียว มีส่วนยึดจะใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น[4]

บันไดด้านหน้าเป็นทางเดินขึ้นลงขนาดใหญ่อยู่ทางทิศเหนือของตัวปราสาททางซึ่งอยู่ทางฝั่งไทย ลาดตามไหล่เขา ช่วงแรกเป็นบันไดหิน กว้าง 8 เมตร ยาว 75.50 เมตร มีจำนวน162 ขั้น บางชั้นสกัดหินลงไปในพื้นหินของภูเขา สองข้างบันไดมีฐานสี่เหลี่ยมตั้งเป็นกระพัก (กระพักแปลว่า ไหล่เขาเป็นชั้นพอพักได้[1]) ขนาดใหญ่เรียงรายขึ้นไป ใช้สำหรับตั้งรูปสิงห์นั่ง ช่วงที่ 2 กว้าง 4 เมตร ยาว 27 เมตร มี 54 ขั้น มีฐานกระพักกว้าง 2.5 เมตร 7 คู่ มีรูปสิงห์นั่งตั้งอยู่

หลังจากที่ศาลโลกพิพากษาให้ปราสาทพระวิหารตกอยู่ในอธิปไตยของกัมพูชา นักศึกษาไทยได้ประท้วงคำตัดสินของศาลโลกและปิดทางขึ้นปราสาทที่อยู่ในเขตแดนไทย ทำให้ชาวกัมพูชาที่ต้องการขึ้นปราสาท จะต้องขึ้นทางช่องเขาแคบ ๆ สูงชันที่เรียกกันว่า "ช่องบันไดหัก"[9]

โบราณสถานและโบราณวัตถุที่สันนิษฐานว่าเกี่ยวเนื่องกับตัวปราสาท ประกอบด้วยดังนี้[8]

  • ภาพสลักบนหน้าผามออีแดง : เป็นภาพสลักนูนต่ำรูปเทพชายและหญิงในท่าเรียงกัน 3 องค์ และยังมีส่วนที่สลักไม่เสร็จ
  • สถูปคู่ : เป็นสถูปคู่ 2 องค์ สร้างด้วยหินทราย เป็นแท่งสี่เหลี่ยม สูง 4.2 เมตร ยอดมน ข้างในมีโพรงบรรจุสิ่งของ
  • สระตราว : สระน้ำขนาดใหญ่ คาดว่ามีสถานะเทียบเท่าบาราย(แหล่งเก็บน้ำในอารยธรรมขอม มักสร้างใกล้ปราสาทหิน) บริเวณใกล้เคียงพบร่องรอยการตัดหินเพื่อนำไปสร้างปราสาท

ประวัติการก่อสร้าง

ปราสาทพระวิหาร หรือปราสาทพระวิหาร ประกอบด้วยหมู่เทวาลัยและปราสาทหินจำนวนมาก เทวาลัยหรือปราสาทหินแห่งแรกสร้างขึ้นเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 9 ซากปรักหักพังของเทวาลัยที่เหลืออยู่ มีอายุตั้งแต่สมัยเกาะแกร์ ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 10 ครั้นเมื่อนครหลวงของอาณาจักรขอมกัมพูชาอยู่ใกล้ เมื่ออยู่ที่นครวัด นอกจากนี้ยังมีองค์ประกอบบางประการในรูปแบบศิลปะของปราสาทบันทายศรี ตามหลักจารึกที่ค้บพบ 3 หลักคือ จารึกศิวะศักติ จารึกหมายเลข K380 และ K381 เชื่อว่าเริ่มก่อสร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 (พ.ศ. 1432-1443) ในฐานะ "ภวาลัย" ที่ทรงมอบแก่เจ้าเมืองที่ครองพื้นที่ในแถบนั้น ซึ่งอยู่ในตระกูล"พระนางกัมพูชาลักษมี"พระมเหสีของพระองค์ และเป็นรูปร่างเมื่อในสมัยพระเจ้ายโศวรมัน ซึ่งสถาปนาศรีศิขเรศวร ในปี พ.ศ. 1436[8] แต่โครงสร้างส่วนใหญ่ของปราสาทแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 (มีพระนามจารึกที่กรอบประตูโคปุระชั้นที่ 2 ว่า "สูรยวรรมเทวะ" และปีที่สร้างแล้วเสร็จในสมัยของพระองค์ตามจารึกคือ พ.ศ. 1581[10] ) และ สุริยวรมันที่ 2 ในครึ่งแรกของศตวรรษที่ 11 และศตวรรษที่ 12 ตามลำดับ ตามจารึกกล่าวไว้ว่าพระองค์ส่ง "ทิวากรบัณฑิต" มาบวงสรวงพระศิวะทุกปี นอกจากนี้ยังมีชุมชนโดยรอบที่กษัตย์อุทิศไว้ให้รับใช้เทวสถาน ชุมชนที่มีชื่อในจารึกอย่างเช่น กุรุเกษตร, พะนุรทะนง เป็นต้น[8] ในปัจจุบันนี้ปราสาทหลงเหลือแต่เพียงซากปรักหักพัง แต่ทว่ายังมีอาคารปราสาทเหลืออยู่อีกหลายแห่ง[9]

แผนที่ฝรั่งเศสที่ศาลโลกกรุงเฮกใช้อ้างอิงในการตัดสินให้ปราสาทพระวิหารตกเป็นของกัมพูชา แต่เป็นแผนที่ที่กำหนดเส้นพรมแดนโดยไม่ได้ยึดแนวสันปันน้ำ อันขัดต่อหลักสากลและไทยได้โต้แย้งเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2505 ประเทศไทยได้ยอมรับว่า "ปราสาทพระวิหาร" เป็นของกัมพูชา แต่ไม่เคยยอมรับอาณาบริเวณบนยอดผาและรอบ ๆ ว่าเป็นของประเทศนั้น ไทยได้ทำบันทึกยื่นต่อศาลระหว่างเทศยืนยันที่จะยึดแนวสันเขตแดนตามหลักสากลโดยใช้สันปันน้ำเป็นเส้นแบ่ง

ผู้ค้นพบปราสาทพระวิหารในสมัยปัจจุบันคือ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ พระราชโอรสองค์ที่ 11 ใน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยทรงพบเมื่อปี พ.ศ. 2442 ขณะทรงได้รับแต่งตั้งให้เป็น ข้าหลวงต่างพระองค์ เสด็จไปรับราชการที่มณฑลลาวกาว (อิสาน) ในสมัยรัชกาลที่ 5 และได้ทรงจารึกปี ร.ศ. ที่พบเป็นเลขไทย ตามด้วยพระนามไว้ที่บริเวณชะง่อนผาเป้ยตาดี เป็นข้อความว่า "๑๑๘ สรรพสิทธิ"[12] ต่อมาเมื่อประเทศฝรั่งเศสเข้าครอบครองอินโดจีนได้ทำสนธิสัญญา พ.ศ. 2447 ในการปักปันเขตแดนกับราชอาณาจักรสยาม โดยมีความตามมาตรา 1 ของสนธิสัญญา ระบุให้ใช้สันปันน้ำเป็นเส้นแบ่งพรมแดน ซึ่งมีผลให้ปราสาทพระวิหารอยู่ในดินแดนไทย ต่อมาใน พ.ศ. 2451 ฝรั่งเศสได้จัดทำแผนที่ฝ่ายเดียว ส่งมอบให้สยาม 50 ชุด แต่ละชุดมี 11 แผ่นและมีแผ่นหนึ่งคือ "แผ่นดงรัก" ที่ครอบคลุมพื้นที่ปราสาทพระวิหาร และไม่ได้ใช้แนวสันปันน้ำเป็นเส้นแบ่งพรมแดน ทำให้ปราสาทพระวิหารในแผนที่อยู่ในดินแดนของกัมพูชา โดยที่รัฐบาลสยามในขณะนั้นไม่ได้รับรองหรือทักท้วงความถูกต้องของแผนที่ดังกล่าว[13]

ต่อมาในปี พ.ศ. 2483 ประเทศฝรั่งเศสแพ้สงครามต่อประเทศเยอรมนี ทำให้แสนยานุภาพทางทหารลดลง จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ยื่นข้อเสนอเรียกร้องดินแดนที่เสียไปในสมัยรัชกาลที่ 5 คืนจากฝรั่งเศส ซึ่งฝรั่งเศสปฏิเสธและมีการเคลื่อนไหวทางทหาร ที่ทำให้เกิดสงครามพิพาทอินโดจีนระหว่างไทยกับฝรั่งเศสขึ้นในปี พ.ศ. 2484 ประเทศไทยได้รับชัยชนะในการรบตลอด 22 วัน กระทั่งประเทศญี่ปุ่นที่เป็นมหาอำนาจในขณะนั้นเสนอตัวเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ย และฝรั่งเศสได้ตกลงคืนจังหวัดไชยบุรี จำปาศักดิ์ เสียมราฐ และพระตะบองให้กับไทย ตาม อนุสัญญาโตเกียว[14] ทำให้ปราสาทพระวิหารกลับมาอยู่ในดินแดนไทยอย่างสมบูรณ์ ต่อมาเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลไทยประกาศเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น ประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร และต่อมาญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้สงคราม ประเทศไทยต้องรักษาสถานะตัวเองไม่ให้เป็นฝ่ายแพ้สงครามตามญี่ปุ่น และต้องการเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ จึงตกลงคืนดินแดน 4 จังหวัดให้ฝรั่งเศส ทำให้ปราสาทพระวิหารกลับไปอยู่บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ต่อมาในปี พ.ศ. 2497 ฝรั่งเศสแพ้สงครามต่อเวียดนามที่เดียนเบียนฟู ต้องถอนทหารออกจากอินโดจีน ประเทศกัมพูชาได้รับเอกราชตามสนธิสัญญาเจนีวา และไทยได้ส่งทหารเข้าไปรักษาการบริเวณปราสาทพระวิหารอีกครั้ง

ภายหลังกัมพูชาได้รับเอกราช เจ้านโรดมสีหนุ กษัตริย์กัมพูชาสละราชสมบัติเข้าสู่การเมือง ได้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี และประกาศเรียกร้องให้ไทยคืนปราสาทพระวิหาร และไทยไม่ยอมรับ เจ้านโรดมประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2501[10] และในปีต่อมา เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2502 เจ้านโรดมสีหนุได้ฟ้องร้องต่อ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice) หรือศาลโลก ให้ไทยคืนปราสาทพระวิหาร ฝ่ายไทยต่อสู้คดีโดยมี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช กับคณะรวม 13 คน เป็นทนายฝ่ายไทย และฝ่ายกัมพูชามีนายดีน แอจิสัน เนติบัณฑิตแห่งศาลสูงสุด อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา เป็นหัวหน้าคณะ กับพวกอีกรวม 9 คน[10]

กระทั่งวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2505 ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ได้ตัดสินให้ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา ด้วยเสียง 9 ต่อ 3[15] และในวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 หลังจากศาลโลกตัดสินแล้ว 20 วัน รัฐบาลไทยโดย ดร.ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้มีหนังสือไปยัง นายอูถั่น เลขาธิการสหประชาชาติ เพื่อประท้วงคำพิพากษาของศาลโลก และสงวนสิทธิที่ประเทศไทยจะเรียกร้องปราสาทพระวิหารกลับคืนในอนาคต ทั้งนี้คำตัดสินของศาลโลกนั้นเป็นที่สิ้นสุด ไม่มีการอุทธรณ์ การจะนำคดีกลับขึ้นมาพิจารณาใหม่นั้นสามารถทำได้ถ้ามีหลักฐานใหม่และต้องทำภายในสิบปี

หลังจากนั้นไม่นาน กัมพูชาเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นภายในประเทศ ปราสาทหินแห่งนี้เปิดให้สาธารณชนเข้าชมเพียงช่วงสั้น ๆ ในปี พ.ศ. 2535 แต่ปีต่อมาก็ถูกเขมรแดงเข้าครอบครอง จากนั้นก็เปิดอีกครั้งจากฝั่งประเทศไทย เมื่อปลายปี พ.ศ. 2541

การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

เมื่อ 8 มีนาคม พ.ศ. 2548 กัมพูชาได้เสนอต่อองค์การยูเนสโกให้ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกอย่างเป็นทางการ ปี พ.ศ. 2549 วันที่ 30 มกราคม ศูนย์มรดกโลกของยูเนสโกที่ปารีสขอให้กัมพูชายื่นเอกสารใหม่เกี่ยวกับเขตกันชนของปราสาท และมีคำแนะนำให้ร่วมมือกับฝ่ายไทย[8] พ.ศ. 2550 กัมพูชายื่นเอกสารขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารอีกครั้ง ขณะที่ไทยยื่นบันทึกช่วยจำต่อเอกอัครราชทูตกัมพูชาและเสนอขึ้นทะเบียนร่วม(Transboundary property) แต่คณะกรรมการมรดกโลกสากลมีมติเลื่อนการขึ้นทะเบียนออกไป โดยให้ไทย-กัมพูชาร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด และในวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 องค์การยูเนสโกประกาศขึ้นทะเบียนตามคำขอของกัมพูชาให้ตัวปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก เฉพาะเพียงตัวปราสาทเท่านั้น โดยผ่านเกณฑ์การพิจารณาข้อ (i) เพียงข้อเดียว[16]

ในวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2551 กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้นำประเด็นนี้มาโจมตีเพื่อขับไล่นายนพดล ปัทมะ ให้ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ[17][18][19] เหตุการณ์นี้พัฒนาไปสู่ความขัดแย้งระหว่างไทยและกัมพูชาในที่สุด

การเยี่ยมชม

ทุกวันนี้เขาพระวิหารเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดศรีสะเกษ แม้ศาลโลกจะพิพากษาให้ปราสาทตกเป็นของกัมพูชาก็ตาม แต่การขึ้นเขาพระวิหารจากทางกัมพูชายังทำได้ยาก ซึ่งตรงกันข้ามกับทางฝั่งไทย ดังนั้นกัมพูชายังต้องพึ่งไทยเกี่ยวกับการท่องเที่ยวปราสาทพระวิหาร หากไม่มีการก่อสร้างทางเพิ่มเติม และไทยกับกัมพูชาได้ประสานงานเปิดจุดผ่อนปรนในพื้นที่ปราสาทพระวิหารเป็นแหล่งท่องเที่ยว ในภาวะปกติ ภายใต้การดูแลของทหารทั้งสองประเทศเพื่อประโยชน์จากการท่องเที่ยว การเดินทางไปเยี่ยมชมปราสาทพระวิหารจึงไม่มีปัญหาอันใดหากอยู่ในสถานการณ์ปกติ[9]

การเข้าชมเปิดให้ตั้งแต่เวลา 08.00 - 16.30 น. ค่าเข้าชมต้องเสียค่าธรรมเนียมสองด่าน ได้แก่ ค่าผ่านด่านเขาพระวิหาร ชาวไทย 20 บาท ชาวต่างประเทศ 200 บาท และค่าเข้าชมเขาพระวิหารที่เป็นการเก็บของด่านกัมพูชา ชาวไทยผู้ใหญ่ 50 บาท ชาวต่างประเทศผู้ใหญ่ 200 บาท[4]

การเดินทาง

  • จากจังหวัดศรีสะเกษไปทางอำเภอกันทรลักษณ์ ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 221 ผ่านบ้านภูมิซร๊อล มาจนถึงเขตอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร ก็จะมีด่านตรวจ เมื่อผ่านด่านแล้วขึ้นไปตามทางขึ้นเขา มีรถโดยสารจากอำเภอเมืองศรีสะเกษไปยังอำเภอกันทรลักษณ์ ออกทุกชั่วโมงแล้วเหมารถต่อไปยังตัวปราสาท หรือเหมารถรับจ้างจากอำเภอเมืองปราสาทไป ราคาประมาณ 1,000 บาท
  • จากจังหวัดอุบลราชธานี ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 24 ที่ไปเดชอุดม มาจนถึงทางแยกเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2085 ไปอำเภอกันทรลักษณ์ แล้วตรงไปตามทางดังกล่าว[2]

ลำดับเหตุการณ์

  • พ.ศ. 2442 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ค้นพบปราสาทพระวิหาร
  • พ.ศ. 2447 ประเทศฝรั่งเศสเข้าครอบครองอินโดจีน ได้ทำสนธิสัญญาปักปันเขตแดน ระบุให้ใช้สันปันน้ำเป็นเส้นแบ่งพรมแดน ซึ่งมีผลให้ปราสาทพระวิหารอยู่ในดินแดนไทย
  • พ.ศ. 2451 ฝรั่งเศสได้จัดทำแผนที่ฝ่ายเดียว ส่งมอบให้ไทย มีแผ่นหนึ่งคือ "แผ่นดงรัก" ที่ครอบคลุมพื้นที่ปราสาทพระวิหาร และไม่ได้ใช้แนวสันปันน้ำเป็นเส้นแบ่งพรมแดน ทำให้ปราสาทพระวิหารในแผนที่อยู่ในดินแดนของกัมพูชา โดยที่รัฐบาลไทยในขณะนั้นไม่ได้รับรองหรือทักท้วงความถูกต้อง
  • พ.ศ. 2472 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จเยือนปราสาทพระวิหาร
  • พ.ศ. 2479 ไทยขอปรับปรุงเขตแดน แต่ฝรั่งเศสผัดผ่อน
  • พ.ศ. 2482 ไทยขอปรับปรุงเขตแดนกับฝรั่งเศสอีกครั้ง แต่ตกลงกันไม่ได้
  • พ.ศ. 2484 อนุสัญญาโตเกียว ทำให้ดินแดนที่เสียไปเมื่อ ร.ศ. 123 และ ร.ศ. 126 บางส่วน รวมถึงปราสาทพระวิหารกลับมาอยู่ในดินแดนไทย
  • พ.ศ. 2489 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการยกเลิกอนุสัญญาโตเกียวโดยสนธิสัญญาประนีประนอม โดยมีอเมริกา, อังกฤษ และเปรูเข้ามาไกล่เกลี่ย
  • พ.ศ. 2492 ประเทศไทยเข้าครอบครองปราสาทพระวิหาร โดยใช้หลักสันปันน้ำเป็นเส้นแบ่งพรมแดน ระหว่างนี้มีการประท้วงจากฝรั่งเศส 3 ครั้ง
  • พ.ศ. 2493 กัมพูชาเป็นเอกราชจากฝรั่งเศส
  • พ.ศ. 2501 กัมพูชาเรียกร้องให้ไทยคืนปราสาทพระวิหาร
  • พ.ศ. 2502 กัมพูชาฟ้องร้องต่อศาลโลก
  • พ.ศ. 2505 ศาลโลกตัดสินให้ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา ด้วยเสียง 9 ต่อ 3
  • พ.ศ. 2509 ไทย-กัมพูชาสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอีกครั้ง หลังหยุดชะงักไป 3 ปี[8]
  • พ.ศ. 2513 กัมพูชาเปิดเขาพระวิหารให้นักท่องเที่ยวขึ้นชมจากฝรั่งไทย[8]
  • พ.ศ. 2518 ปิดเขาพระวิหาร เนื่องจากเขมรแดงยึดอำนาจ และเกิดสงครามกลางเมือง[8]
  • พ.ศ. 2535 เปิดเขาพระวิหารให้ขึ้นชมอีกครั้ง เมื่อพรรคประชาชนกัมพูชาของฮุนเซนชนะการเลือกตั้ง[8]
  • พ.ศ. 2536 ปิดเขาพระวิหาร เนื่องจากกำลังเขมรแดงยึดครองพื้นที่เขาพระวิหาร[8]
  • พ.ศ. 2546 กัมพูชาก็ได้ตัดถนนเข้าไปจนสำเร็จสมบูรณ์หลังจากรอคอยเป็นเวลาช้านาน แต่ก็มีการห้ามเข้าอยู่เป็นระยะโดยมิได้กำหนดล่วงหน้า
  • พ.ศ. 2550 กัมพูชาเสนอองค์การยูเนสโก ให้ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก แต่ยังไม่มีข้อสรุป
  • พ.ศ. 2551
    • 18 มิถุนายน นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่ากระทรวงการต่างประเทศ ได้ลงนามยินยอมให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่ฝ่ายเดียว ร่วมกับ นายอึง เซียน เอกอัครราชทูตกัมพูชา และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
    • 24 มิถุนายน ทางการกัมพูชาปิดปราสาทพระวิหารชั่วคราว หวั่นผู้ไม่ประสงค์ดีเข้าไปทำร้ายชาวกัมพูชาในบริเวณใกล้เคียง
    • 28 มิถุนายน ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ให้กระทรวงการต่างประเทศและคณะรัฐมนตรียุติการดำเนินการตามมติ ครม.ที่รับรองการออกแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาสนับสนุนให้กัมพูชาจดทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ไปจนกว่าคดีจะเป็นที่สิ้นสุด หรือ ศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
    • 8 กรกฎาคม องค์การยูเนสโก ประกาศรับปราสาทพระวิหารขึ้นเป็นมรดกโลกเฉพาะแต่เพียงตัวปราสาท
  • "ข้อมูลนี้อนุญาตให้ผู้อื่นนำไปคัดลอกต่อโดยเสรี ตามสัญญาอนุญาต GFDL ไม่สงวนลิขสิทธิ์"
  • ขอขอบคุณ wikipedia.org

Advertising Zone    Close

Online: 1 Visits: 16,188 Today: 2 PageView/Month: 3

ด้วยความปราถนาดีจาก "สยามทูเว็บดอทคอม" และเพื่อป้องกันการเปิดเว็บไซต์เพื่อหลอกลวงขายของ โปรดตรวจสอบร้านค้าให้แน่ใจก่อนตัดสินใจซื้อของทุกครั้งนะคะ    อ่านเพิ่มเติม ...